HEADER-braces 2-2022
HEADER-services

เจาะลึกเรื่องจัดฟัน

จะมองไปทางไหน ซ้ายที ขวาที ก็เป็นต้องเจอคนจัดฟันกันเต็มไปหมด จัดฟันเป็นแฟชั่นไปแล้วหรืออย่างไร? จัดฟันจะเรียกว่าเป็นแฟชั่นก็คงไม่ถูกไปเสียทีเดียว เพราะการจัดฟันมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอย่างเห็นได้ชัด ทำให้การจัดฟันกลายเป็นที่นิยมสำหรับคนที่มีปัญหาฟันเรียงตัวไม่สวยหรือฟันยื่น ฟันเก ซึ่งปัจจุบันการจัดฟันก็มีพัฒนาการทางด้านนวัตกรรมที่ก้าวหน้าและเหมาะสมกับทุกคน

 

จัดฟันคืออะไร ?

การจัดฟัน เป็นกระบวนการรักษาทางทันตกรรม เพื่อแก้ปัญหาการเรียงตัวของฟันผิดปกติ ให้กลับมาเรียงตัวสวยงามเป็นระเบียบ ผ่านการวางแผนและใช้เครื่องมือทางทันตกรรม ทำให้ฟันเคลื่อนกลับไปในตำแหน่งที่เหมาะสม  เรียงตัวสวย ทำความสะอาดได้ง่าย ลดการเกิดฟันผุ เหงือกอักเสบ และการสบฟันที่ดียังช่วยให้เคี้ยวอาหารได้ละเอียดขึ้น รวมถึงเมื่อฟันเรียงตัวสวยขึ้น ก็ช่วยเสริมความมั่นใจและบุคลิกภาพด้วย

 

จัดฟันช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง?

  1. ฟันซ้อน (Crowding) ฟันเรียงไม่เป็นระเบียบ ทำความสะอาดยาก สะสมเศษอาหาร เป็นสาเหตุของกลิ่นปาก โรคเหงือกอักเสบ หรืออาจก่อให้เกิดฟันผุ และทำให้รู้สึกไม่มั่นใจเวลายิ้ม 
  2. ฟันยื่น (Protrusion/Proclination) ฟันหน้ายื่นออกมามากกว่าปกติ ทำให้ปากอูม ไม่สามารถปิดริมฝีปากได้สนิท มีฟันหน้าลอดออกมา อาจทำให้เสียความมั่นใจ
  3. ฟันสบคร่อม ฟันล่างคร่อมฟันบน (Cross Bite) ฟันล่างซี่เดียวหรือหลายซี่สบคร่อมทับฟันบน หากทิ้งไว้ไม่รักษา ขากรรไกรอาจมีขนาดผิดปกติ ทำให้เกิดลักษณะใบหน้าเว้า หน้าเบี้ยว 
  4. ฟันห่าง (Spacing) มีช่องว่างระหว่างฟัน ส่งผลต่อความมั่นใจ การออกเสียงพูดที่ไม่ชัด และมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ในซอกฟัน
  5. ฟันสบลึก (Deep Bite) อันตรายของฟันสบลึกก็คือ ปลายฟันหน้าล่าง จะชนโคนฟันหน้าบนด้านในไปเรื่อย ๆ เมื่อนานเข้าก็จะทำให้ฟันสึก เจ็บ เสียวฟัน สร้างความเสียหายให้กับเหงือกและรากฟันหน้า
  6. ฟันสบเปิด (Open Bite)  เมื่อกัดฟัน ปลายฟันหน้าบนและปลายฟันหน้าล่าง จะห่างออกจากกัน ทำให้กัดอาหารไม่ขาด ออกเสียงบางคำไม่ชัดเจน 
  7. ฟันหาย (Clinical Missing Teeth) ฟันหาย เพราะฟันขึ้นเองไม่ได้ตามธรรมชาติ แต่กลับไปฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร หรือฟันหายไปจริง ๆ ไม่มีการสร้างหน่อฟันแท้ หากลูกหลานฟันขึ้นไม่ครบ ควรพามาพบทันตแพทย์จัดฟัน เพราะอาจช่วยดึงฟันที่ฝังให้ขึ้นมาได้ หรืออาจจะช่วยดึงฟันให้ปิดช่องว่างได้
  8. ฟันประสบอุบัติเหตุ ควรปรึกษาทันตแพทย์จัดฟัน เพราะอาจจะช่วยดึงฟันซี่อื่น มาปิดช่องว่างของฟันที่เสียไป โดยไม่ต้องใส่ฟันปลอม 
  9.  ขากรรไกรผิดปกติ ความผิดปกติของการสบฟันอาจมีสาเหตุจากกระดูกขากรรไกรร่วมด้วย การจัดฟันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ จำเป็นต้องจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร การรักษาจะเป็นการทำงานร่วมกัน ระหว่างทันตแพทย์จัดฟันและทันตแพทย์ศัลยศาสตร์ช่องปาก

 

การจัดฟันมีกี่แบบ?

อย่างที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นว่าปัจจุบันนวัตกรรมการจัดฟันได้พัฒนาไปมาก เนื่องจากการจัดฟันเป็นการรักษาที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน จึงต้องมีการพัฒนาเพื่อตอบรับความต้องการของทุกคนได้อย่างทั่วถึง โดยการจัดฟันที่คลินิกของเรามีทั้งหมด 2 แบบด้วยกัน ดังนี้

  1. จัดฟันแบบโลหะติดแน่น (Metal Bracket) คือ การจัดฟันด้วยโลหะจัดฟันแบบติดแน่น เป็นวิธีการจัดฟันที่พบได้บ่อยที่สุด โลหะจัดฟันแบบนี้จะประกอบด้วย แบร็กเก็ต ยางจัดฟัน และลวดจัดฟัน ทันตแพทย์จะติดแบร็กเก็ตลงบนผิวหน้าของฟันเพื่อใช้อุปกรณ์ยึดลวดจัดฟัน จากนั้นจึงร้อยลวดจัดฟันเข้าไปในแบร็กเก็ต แล้วใช้ยางจัดฟันยึดลวดจัดฟันให้อยู่ในแบร็กเก็ต เมื่อดึงลวดให้ตึงขึ้นจะเป็นการเพิ่มแรงดึงที่ตัวฟัน ทำให้ฟันค่อย ๆ เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม ทันตแพทย์จัดฟันจะปรับเครื่องมือจัดฟันทุก ๆ 3-5 สัปดาห์ เพื่อให้ฟันเคลื่อนไปยังตำแหน่งที่ต้องการ โดยการจัดฟันอาจต้องใช้เวลาตั้งแต่ 1-3 ปี ข้อดีของการจัดฟันแบบโลหะติดแน่น คือ ราคาถูกกว่าการจัดฟันแบบอื่น ๆ โลหะจัดฟันในปัจจุบันมีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบาขึ้น และดูไม่เหมือนโลหะแบบแต่ก่อน นอกจากนี้ยังมีสีสันสดใสเหมาะสำหรับเด็ก และมีแบบใสที่ผู้ใหญ่นิยมใช้อีกด้วย
  2. จัดฟันแบบใส (Clear Aligner) การจัดฟันด้วยเครื่องมือจัดฟันเฉพาะบุคคล ที่ผลิตจากวัสดุคล้ายกับพลาสติกใส โดยเป็นวัสดุชนิดพิเศษ ออกแบบมาเพื่อเคลื่อนฟันไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม คนไข้จะต้องเปลี่ยนเครื่องมือจัดฟันอันใหม่เป็นประจำทุก ๆ 1-2 สัปดาห์  และทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าฟันจะเข้าที่ ข้อดีของการจัดฟันใส คือมีประสิทธิภาพในการจัดฟันเหมือนโลหะจัดฟันแบบเดิม แต่แทบจะไม่เห็นเครื่องมือจัดฟัน ถ้าไม่ได้สังเกตดี ๆ ทำให้ได้ประโยชน์ในแง่ความสวยงาม ผู้ป่วยสามารถถอดเครื่องมือจัดฟันออกได้เมื่อต้องรับประทานอาหาร แปรงฟัน และขัดฟัน แต่จะต้องไม่ถอดเป็นเวลานานในระหว่างจัดฟันเพื่อให้ฟันเรียงตัวกันดี

 

ความแตกต่างของจัดฟันใส และจัดฟันแบบโลหะติดแน่น

  1. ความถี่ในการพบทันตแพทย์ต่างกัน การจัดฟันแบบโลหะติดแน่น จะต้องพบทันตแพทย์ทุก ๆ 3-5 สัปดาห์ เพื่อปรับเครื่องมือ ส่วนจัดฟันแบบใส จะเปลี่ยนอุปกรณ์ทุก ๆ 8-12 สัปดาห์ตามคำแนะนำของทันตแพทย์ และคนไข้สามารถเปลี่ยนอุปกรณ์ได้ด้วยตัวเอง
  2. อุปกรณ์แตกต่างกัน การจัดฟันแบบโลหะติดแน่น จะประกอบไปด้วยแบร็กเก็ต ลวดเหล็ก และยางรัดลวดเหล็ก การจัดฟันแบบใสวัสดุจะเป็นพลาสติกแบบใสที่ถูกทำมาให้เหมาะกับแต่ละบุคคล ที่หากไม่สังเกตก็จะมองไม่ออกเลยว่าใส่อุปกรณ์อยู่
  3. ระดับความเจ็บปวดที่ต่างกัน การจัดฟันแบบโลหะติดแน่นจะมีความเจ็บปวดในช่วงใส่เครื่องมือ หรือปรับเครื่องมือประมาณ 24 ชั่วโมงแรก ส่วนการจัดฟันแบบใสจะไม่ค่อยรู้สึกเจ็บปวดมาก เพราะอุปกรณ์ถูกออกแบบให้มีแรงผลักแบบคงที่ และค่อย ๆ ปรับให้ฟันเคลื่อนที่อย่างเป็นธรรมชาติ
  4. การทำความสะอาดที่มีความยากง่ายแตกต่างกัน การจัดฟันแบบโลหะติดแน่นต้องเลือกแปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟัน และใช้ตัวนำไหมในการทำความสะอาดซอกฟัน ส่วนการจัดฟันใสสามารถถอดอุปกรณ์ออกแล้วทำความสะอาดฟันตามปกติได้
  5. ระยะเวลาต่างกัน การจัดฟันแบบโลหะติดแน่นจะใช้เวลาประมาณ 1-3 ปี หรือตามคำวินิจฉัยของทันตแพทย์ ส่วนการจัดฟันใสจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน – 1 ปี

 

ค่าใช้จ่ายในการจัดฟัน

ค่าใช้จ่ายในการจัดฟันจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายและระยะเวลา ซึ่งสามารถสอบถามจากทันตแพทย์ได้ในระหว่างการตรวจประเมินเพื่อทำการรักษา


ควรจัดฟันตอนอายุเท่าไหร่?
การจัดฟันสามารถทำได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป หรือเมื่อฟันแท้ขึ้นครบ เนื่องจากช่วงอายุนี้กระดูกยังอ่อนตัว ส่งผลให้กระดูกเคลื่อนที่ได้ง่าย แต่ต้องมีความรับผิดชอบในการดูแลความสะอาดมาก ๆ ซึ่งช่วงอายุที่เหมาะกับการจัดฟันที่สุดคือช่วง 14 – 18 ปีที่มีความรับผิดชอบต่อตัวเองมากขึ้น และยังเป็นช่วงเวลาที่ฟันยังคงเคลื่อนที่ได้ง่ายอยู่ ในส่วนของผู้ใหญ่หากอายุประมาณ 30 ขึ้นไปก็สามารถจัดได้เช่นกัน แต่อาจจะใช้เวลานานกว่าปกติเล็กน้อย

 

ขั้นตอนการจัดฟัน?

การจัดฟัน มีขั้นตอนอย่างไร

  1. เบื้องต้นคนไข้จะต้องปรึกษาทันตแพทย์จัดฟัน เพื่อให้คุณหมอได้ทราบประวัติทันตกรรมที่ผ่านมา กรณีที่คนไข้มีโรคประจำตัวหรือมีการแพ้ยา ก็ควรแจ้งคุณหมอด้วย คุณหมอจะวางแผนการรักษาที่เหมาะสมให้ พร้อมอธิบายแนวทางการรักษาแต่ละแบบและข้อควรปฏิบัติ เพื่อให้คนไข้ตัดสินใจ
  2. เมื่อคนไข้เลือกรูปแบบการจัดฟันได้เเล้ว ทันตแพทย์จะเริ่มทำการพิมพ์ปาก สร้างแบบจำลองฟัน ถ่ายภาพ Digital X-Ray ฟัน เพื่อดูการเรียงตัวของฟัน ขากรรไกร ดูการสบของฟัน เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาช่วยดีไซน์การจัดฟันที่จะช่วยเสริมโครงสร้างใบหน้าให้เข้ารูปสวยงามด้วย
  3. ต่อไปทันตแพทย์จะตรวจเช็กสุขภาพในช่องปาก ก่อนที่จะเริ่มจัดฟันต้องทำการเคลียร์ช่องปากให้พร้อม ถ้ามีปัญหาฟันผุ มีหินปูน พบโรคเหงือกหรือรากฟันอักเสบ ก็ต้องรักษาให้หายก่อน คนไข้ก็จะได้ทำความสะอาดฟันด้วยการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน ซึ่งแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับเเต่ละบุคคล การถอนฟันเพื่อจัดฟันนั้นจำเป็นสำหรับบางเคสในการรักษา อยู่ที่ทันตแพทย์จัดฟันจะเป็นผู้วางแผนการรักษา ขั้นตอนนี้อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 1 วัน – 4 สัปดาห์ ก่อนจะเริ่มติดเครื่องมือจัดฟัน
  4. ทันตแพทย์จะนัดติดเครื่องมือจัดฟันให้คนไข้
    1. ขั้นตอนการจัดฟันด้วยการติดเครื่องมือ (แบบที่มองเห็นเครื่องมือบนผิวฟัน)
      ทันตแพทย์ทำการจัดฟัน เเละคอยนัดทุก ๆ 1 เดือน เพื่อปรับเครื่องมือจัดฟัน ติดตามดูการเคลื่อนที่ของฟัน ใช้ระยะเวลาในการรักษา 2-3 ปี
    2. ขั้นตอนการจัดฟันแบบที่มองไม่เห็น หรือแบบใสนั่นเอง (แบบที่สามารถถอดออกได้ระหว่างจัดฟัน)  ซึ่งจะช่วยปรับตำแหน่งของฟัน จัดระเบียบกล้ามเนื้อ และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของขากรรไกร โดยเครื่องมือจัดฟันจะส่งแรงกดไปบนฟันอย่างนุ่มนวลเพื่อให้ฟันเคลื่อนที่บนกระดูกขากรรไกร
  1. เมื่อการรักษาเสร็จสมบูรณ์ ทันตแพทย์จะถอดเครื่องมือจัดฟัน ทำรีเทนเนอร์เพื่อคงสภาพฟัน ให้คนไข้ใส่อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันฟันเคลื่อน

 

ข้อควรรู้ในการจัดฟัน

  1. การจัดฟันต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานาน ประมาณ 2-4 ปี หรือบางรายมากกว่านั้น ระหว่างนั้นคนไข้ต้องใส่ใจ และมีความอดทนต่อการดูแลความสะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาช่องปากอื่น ๆ ตามมา อย่างการฟันผุ ฟันเหลือง มีกลิ่นปาก หรือเป็นโรคเหงือก
  2. ควรใส่ใจการรับประทานอาหาร ไม่รับประทานอาหารที่แข็งหรือเหนียวจนเกินไป เพราะนอกจากจะทำความสะอาดยากแล้ว ยังส่งผลให้เครื่องมือหลุดหรือเสียหายได้ 
  3. พูดไม่ชัด ในช่วงแรกของการจัดฟัน จะมีการใส่เครื่องมือจัดฟันที่ติดบนผิวฟัน ลวดและอุปกรณ์ต่าง ๆ อาจไปขัดขวางการออกเสียง แต่สักพักเมื่อคุ้นชินแล้ว ปัญหาก็จะหายไปใน 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของแต่ละบุคคล
  4. ปัญหากลิ่นปาก เพราะการจัดฟัน ทำให้การแปรงฟันและการทำความสะอาดได้ยากกว่าปกติ แนะนำให้แปรงฟันทุกครั้งหลังอาหารและใช้ไหมขัดฟันที่ออกแบบมาสำหรับคนจัดฟันโดยเฉพาะ อย่าลืมน้ำยาบ้วนปากติดกระเป๋าไปทุกที่
  5. เผลอกลืนอุปกรณ์จัดฟันเข้าปาก ปัญหานี้อาจจะเจอบ้าง แต่หากเราไปจัดฟันกับคลินิคที่ได้มาตรฐานก็ไม่ต้องกังวล เพราะอุปกรณ์จัดฟันทำมาจากวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ถึงอย่างนั้นไม่กลืนลงไปก็จะดีกว่า 
  6. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แข็ง เหนียว หรือชิ้นใหญ่เกินไป เพราะอาจทำให้เครื่องมือเกิดความเสียหาย ทำให้ต้องเสียเวลาแก้ไขใหม่ ระหว่างการจัดฟันจะกินอะไรก็ต้องระมัดระวัง
  7. แบร็กเก๊ตหลุด อีกหนึ่งปัญหาที่พบได้บ่อย คุณหมอจะติดให้ใหม่ในการปรับเครื่องมือครั้งต่อไป แต่การที่แบร็กเก็ตหลุดจะทำให้การจัดฟันช้าลง เพราะต้องย้อนลวดกลับไปแก้ไข สิ่งที่ทำได้คือคนไข้สามารถนัดเข้ามาปรับเครื่องมือให้เร็วขึ้น สามารถนัดเข้ามาได้หลังจากปรับเครื่องมือครั้งล่าสุดครบ 2 สัปดาห์ หากหลุด 5 ตัวแรก ทันตแพทย์จะติดให้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่หากหลุดเกิน 5 ตัว จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ตัวละ 200 บาท 
  8. การย้ายที่อยู่ระหว่างจัดฟัน เป็นปัญหาที่ใครหลายคนต้องเจอ หากมีเหตุจำเป็นต้องย้ายที่อยู่ แนะนำให้เข้าไปพบทันตแพทย์ผู้จัดฟัน เพื่อบอกเหตุผล ความจำเป็น และช่วยให้คุณหมอทำหนังสือส่งตัวพร้อมกับแบบพิมพ์ฟัน ฟิล์มเอกซเรย์ รูปถ่าย ประวัติการรักษา เพื่อส่งต่อให้คุณหมอคนใหม่สามารถวางแผนการรักษาต่อได้
  9. การใส่รีเทนเนอร์ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องใส่รีเทนเนอร์ แล้วต้องใส่ตลอดชีวิตหรือไม่ ที่ต้องใส่รีเทนเนอร์ก็เพื่อคงสภาพการเรียงตัวของฟันให้ฟันคงรูปการเรียงตัวไว้ ส่วนจะใส่รีเทนเนอร์นานแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทันตแพทย์

 

การดูแลขณะจัดฟัน

หลังจากจัดฟัน ต้องอาศัยความรับผิดชอบในการดูแลความสะอาดฟันอย่างเข้มงวด เพราะคนที่เข้ารับการจัดฟันมีโอกาสฟันผุ หรือเหงือกมีปัญหาได้ง่ายกว่าปกติ โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้

  1. เลือกแปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟันโดยเฉพาะ เพราะแปรงแบบปกติไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อคนจัดฟัน จะทำให้ไม่สามารถทำความสะอาดได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นควรเลือกแปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟัน และอย่าลืมแแปรงให้ทั่วทุกซอกทุกมุม และแปรงลิ้นด้วย
  2. ใช้ไหมขัดฟัน และตัวนำไหม ขัดตามซอกฟัน และสอดเข้าไประหว่างลวดเพื่อทำความสะอาดไม่ให้มีเศษอาหารติดอยู่ที่เหล็กจัดฟัน และซอกฟัน
  3. เลือกใช้ยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ
  4. ตรวจเช็คฟันผุและขูดหินปูนทุก 6 เดือน
  5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เหนียวหรือแข็งจนเกินไป และไม่ควรใช้งานฟันหนักเกินไป อย่างการกัดหรือฉีก เพราะเครื่องมืออาจหลุดออกมาได้
  6. คนจัดฟันมักเจออาการยอดฮิตอย่างเหล็กทิ่มกระพุ้งแก้ม แนะนำให้ใช้ขี้ผึ้งปั้นเป็นก้อนเล็ก  ๆ แล้วแปะทับจุดที่เป็นแผล หรือใช้ยาแก้ร้อนในทาบริเวณแผล แต่หากปลายลวดหลุดให้รีบมาพบทันตแพทย์ทันที  
  7. นัดปรับเครื่องมือกับทันตแพทย์ทุกเดือน เพื่อให้การจัดฟันเป็นไปตามเวลาที่กำหนดไว้ และขูดหินปูนทุก ๆ 6 เดือน เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี

 

ฟันเคลื่อนได้อย่างไร?

ทุกอย่างเริ่มต้นจาก “แรง” และ “กฎของฟิสิกส์” เมื่อมีแรงมากระทำที่ฟัน ผ่านเครื่องมือจัดฟัน จะเกิดแรงกดรอบ ๆ รากฟันด้านหนึ่ง ทำให้เกิดการอักเสบ จนกระดูกและเนื้อเยื่อบริเวณนั้นละลายตัว ฟันจึงเคลื่อนที่ไปตามทิศทางนั้น ส่วนรากฟันด้านตรงข้าม ร่างกายจะสร้างกระดูกและเนื้อเยื่อใหม่มาทดแทน

 

จัดฟัน…ใช้เวลานานแค่ไหน?

การจัดฟันโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี หรือนานกว่านี้ จัดฟันคือการรักษาความผิดปกติเฉพาะบุคคล แต่ละคนจะใช้เวลาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับระดับความผิดปกติในการสบฟัน การตอบสนองต่อการรักษาของร่างกาย ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน และที่สำคัญคือ ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยเองด้วยว่า ให้ความร่วมมือในการรักษามากน้อยแค่ไหน บางคนหนึ่งปีมาปรับเครื่องมือแค่ 1-2 ครั้ง บางคนไม่ดูแลเครื่องมือจัดฟันให้ดี ทำเครื่องมือหลุดบ่อย แบบนี้ก็ยากที่จะสำเร็จ ยังไม่มีใครหรือเครื่องมืออะไร ที่จะสามารถบอกระยะเวลาในการจัดฟัน ได้อย่างชัดเจนแน่นอน

 

จัดฟันขณะตั้งครรถ์มีผลอย่างไร?

การจัดฟันที่ใช้เวลานานหลายปี หากระหว่างจัดฟันคนไข้ตั้งครรถ์ ก็ยังสามารถมาเปลี่ยนเครื่องมือ และขูดหินปูนได้ แต่ต้องเว้นระยะให้เหมาะสม ควรหลีกเลี่ยง 3 เดือนแรกของการตั้งครรถ์เพราะคุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้อง ซึ่งการทำฟันอาจไปกระตุ้นอาการแพ้ท้อง และทำให้อาเจียนได้ รวมทั้งควรเลี่ยง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรถ์ เพราะขนาดครรถ์และรูปร่างของคุณแม่ไม่เอื้อต่อการนั่งเก้าอี้ทำฟัน

 

รีวิวการจัดฟัน

Contact

นัดหมายเพื่อเข้ามาตรวจสุขภาพฟันกับคุณหมอของเรา ที่คลินิกทันตกรรม Sodent ทั้งสามสาขา
สาขาสวนสมเด็จ , สาขาถนนมหาจักรพรรดิ์, สาขาบูรพาซิตี้
เวลาทำการ : จันทร์ – ศุกร์ 10.00 – 20.00 , เสาร์ – อาทิตย์ 9.00 – 20.00

เบอร์โทรศัพท์: 099-1596553

Facebook: Sodent Dental

LINE Official: Sodent Dental